พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ ๑๖ ของประเทศไทย (พ.ศ. ๒๕๒๓ - ๒๕๓๑) เกิดเมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๔๖๓ เชื้อชาติไทย สัญชาติไทย ศาสนาพุทธ เกิดที่บ้านบ่อยาง เลขที่ ๗๘๘ ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา
เป็นบุตรของรองอำมาตย์โทหลวงวินิจทัณฑกรรม (บึ้ง ติณสูลานนท์) ตำแหน่งพะทำมะรง (พัศดี) เมืองสงขลา (พ.ศ. ๒๔๕๗) กับนางวินิจทัณฑกรรม (ออด ติณสูลา-นนท์) มีพี่น้อง ๘ คน คือ
๑. นายชุบ ติณสูลานนท์
๒. นายเลข ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)
๓. นางขยัน (ติณสูลานนท์ ) โมนยะกุล
๔. นายสมนึก ติณสูลานนท์
๕. นายสมบุญ ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)
๖. พลเอก เปรม ติณสูลานนท์
๗. เด็กหญิงปรี ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)
๘. นายวีระณรงค์ ติณสูลานนท์ (ถึงแก่กรรม)

ชื่อ “เปรม” นั้น ท่านเจ้าคุณพระรัตนธัชมุนี (แบน คณฐภรโณ - เปรียญ) วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้ตั้งให้ ในคำไว้อาลัยแด่ท่านเจ้าคุณรัตน-ธัชมุนี (แบน คณฐาภรโณ) เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน ๒๕๒๓ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้เขียนคำไว้อาลัยตอนหนึ่งว่า “อนึ่งท่านเจ้าคุณและบิดาของผมเป็นศิษย์ร่วมอุปัชฌาย์อาจารย์เดียวกันและบิดาของกระผมเป็นผู้กราบนมัสการขอให้ท่านเจ้าคุณตั้งชื่อให้กระผม จึงนับได้ว่าท่านเจ้าคุณเป็นผู้มีพระคุณต่อกระผมเป็นส่วนตัวด้วย”
ส่วนนามสกุล “ติณสูลานนท์” นั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ พระราชทานให้ เมื่อ ๑๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๖๒

พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ได้รับการศึกษาโดยสรุปดังนี้
พ.ศ. ๒๔๖๙ เข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา มีเลขประจำตัว ๑๖๗ และมีความประทับใจในขณะได้รับการศึกษา คือ
- เริ่มเรียนครั้งแรกจนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๖ พ.ศ. ๒๔๗๘
- ในสมัยเรียนมัธยมศึกษาปีที่ ๔ พ.ศ. ๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จเยี่ยมโรงเรียน และทรงพระดำเนินเยี่ยมในห้องเรียน ท่านก็ทรงอ่านสมุดวิชา “สรีรศาสตร์” ของเด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่ง ฯพณฯ ถือว่าเป็นสิริมงคลแก่ตนเอง
- ในขณะที่เรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๖ เด็กชายเปรม ติณสูลานนท์ กับเด็กชายอิ่ม นิลรัตน์ ผลัดกันสอบได้ที่ ๑ มาโดยตลอดจนครูแยกห้องเรียนกัน และเด็กชายเปรม เคยได้รับ ”เกียรติบัตรหมั่นเรียน” เพราะเรียนดีไม่เคยสาย ไม่เคยขาดเรียน ได้ทุกปี
-เป็นนักกีฬาประเภทวิ่งผลัด และนักฟุตบอลของโรงเรียน
- เป็นนายหมู่ลูกเสือตรี ขณะนั้นเรียนมัธยมปีที่ ๕ ข.
- ๑๘ พฤษภาคม ๒๔๗๙ เข้าเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบ วิทยาลัยแผนกวิทยาศาสตร์ มีเลขประจำตัว ๗๕๘๗ เรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๗ - ๘
- ได้เข้าเรียนในเมืองหลวง โดยพี่ชายชื่อชุบ ติณสูลานนท์
- ขณะเรียนอาศัยอยู่บ้านของพระยาบรรณสิทธทัณฑการ
- ๒ พฤษภาคม ๒๔๘๑ เข้าเรียนโรงเรียน “เท็ฆนิคทหารบก” หรือโรงเรียนนายร้อย พระจุลจอมเกล้าในปัจจุบัน
- ขณะเรียนต้องการเป็นทหารปืนใหญ่ แต่พอเกิดสงครามจึงต้องเปลี่ยนมาเลือกเป็นทหารม้า
พ.ศ. ๒๔๘๔ สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรพิเศษของโรงเรียนเท็ฆนิคทหารบก (จปร) นักเรียนนายร้อยรุ่นนี้รับการศึกษาไม่ครบ ๕ ปี ตามหลักสูตรที่กำหนดไว้ คือต้องใช้เวลาการศึกษาเพียง ๓ ปี เท่านั้น เพราะต้องออกมาเป็นผู้บังคับหมวดตั้งแต่มีสภาพเป็นนักเรียนนายร้อย

ประวัติการรับราชการ
๓ มกราคม ๒๔๘๔ เป็นผู้บังคับหมวดประจำกรมรถรบ ทั้ง ๆ ที่ยังเรียนไม่จบหลักสูตร เนื่องจากเกิดกรณีพิพาทในอินโดจีนระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลฝรั่งเศส นับเป็นการเข้าสู่สงครามครั้งแรก
๒๐ มกราคม ๒๔๘๔ ได้รับแต่งตั้งให้เป็น ว่าที่ร้อยตรี เปรม ติณสูลานนท์ แต่ไม่ได้เข้าพิธีพระราชทานกระบี่จากพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องจากต้องไปประจำการอยู่ที่สนามรบปอยเปต ประเทศเขมร (รับกระบี่ในสนามรบ)
มกราคม ๒๔๘๕ - ๒๔๘๘ ได้รับแต่งตั้งให้ไปสงครามอีกครั้งหนึ่ง นับเป็นครั้งที่ ๒ (สงครามมหาเอเซียบูรพา) เป็นผู้หมวดตอนแรก เป็นกองหนุนของกองทัพคือกองทัพพายัพ ซึ่งมีหลวงเสรีเริงฤทธิ์เป็นแม่ทัพ กองบัญชาการอยู่ที่ลำปาง ต่อมากองทัพเคลื่อนย้ายไปอยู่เชียงราย และได้รับคำสั่งให้ไปขึ้นอยู่กับกองพล ๓ ที่เชียงตุง จนได้เลื่อนยศเป็นร้อยเอก และได้รับคำสั่งให้เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ลพบุรี
๒๓ กรกฎาคม ๒๔๘๙ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๒ กองพันที่ ๑ กรมรถรบ
๔ ธันวาคม ๒๔๘๙ เข้าศึกษาเป็นนายทหารฝึกหัดราชการโรงเรียนนายทหารม้า
๒๙ สิงหาคม ๒๔๙๐ รักษาราชการรองผู้บังคับกองร้อย
๘ เมษายน ๒๔๙๒ รักษาราชการผู้บังคับกองพันที่ ๑
๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๓ เป็นผู้บังคับกองร้อยที่ ๓ กองพันทหารม้าที่ ๔ จังหวัดอุตรดิตถ์
๑ พฤษภาคม ๒๔๙๓ เป็นรองผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๔
๗ กรกฏาคม ๒๔๙๓ เป็นรองผู้บังคับการจังหวัดทหารบกอุตรดิตถ์
๓ มีนาคม ๒๔๙๕ เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศเนื่องจากรับทุนจากกองทัพบกโดยการสอบแข่งขันได้ไปศึกษาต่อที่ THE UNITED STATES ARMY ARMOR SCHOOL ฟอร์ทนอกซ์ ซึ่งอยู่ที่รัฐแคนตั๊กกี้ สหรัฐอเมริกา
๒๔ เมษายน ๒๔๙๖ เป็นอาจารย์ในแผนกวิชายุทธวิธี กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ (บริเวณเกียกกาย) กรุงเทพมหานคร
๓๐ ธันวาคม ๒๔๙๗ เป็นผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ ๕ กรมทหารม้าที่ ๒ และรักษาราชการอาจารย์แผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ
๑๖ ธันวาคม ๒๔๙๘ เป็นอาจารย์หัวหน้าแผนกวิชาทหาร กองการศึกษา โรงเรียนยานเกราะ กองพลทหารม้า
๑๐ มีนาคม ๒๕๐๑ เป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า
25 ธันวาคม ๒๕๐๑ เป็นรองผู้บัญชาการโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า
๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๒ เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ
พ.ศ. ๒๕๐๓ เข้าศึกษาการวิทยาลัยการทัพบก หลลักสูตรพิเศษชุดที่ ๒ (ยศพันเอก)
พ.ศ.๒๕๐๙ เข้าศึกษาวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรรุ่นที่ ๙ (ยศพันเอก)
๔ กรกฏาคม ๒๕๑๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นสมาชิกวุฒิสภา
๑ ตุลาคม ๒๕๑๑ เป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า
๑๔ เมษายน ๒๕๑๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวร
๑๘ กรกฏาคม ๒๕๑๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารม้าที่ ๑ รักษาพระองค์
พ.ศ. ๒๕๑๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
๑๖ ธันวาคม ๒๕๑๕ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์เวรสืบต่อไป
๑ ตุลาคม ๒๕๑๖ เป็นรองแม่ทัพภาคที่ ๒
๑ ตุลาคม ๒๕๑๗ เป็นแม่ทัพภาคที่ ๒
๑ ตุลาคม ๒๕๑๘ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นองครักษ์พิเศษ
๑ ตุลาคม ๒๕๒๐ ปฏิบัติหน้าที่รองผู้อำนวยการป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ทั่วไปฝ่ายทหาร และเป็นผู้ข่วยผู้บัญขาการทหารบก มียศเป็นพลเอก
๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๒๐ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นรัฐมนตรีข่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
๒๗ กรกฏาคม ๒๕๒๑ เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์
๑ ตุลาคม ๒๕๒๑ เป็นผู้บัญชาการทหารบก
๔ ธันวาคม ๒๕๒๑ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์
๒๔ พฤษภาคม ๒๕๒๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
๑๒ กรกฏาคม ๒๕๒๒ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษ ประจำกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์
๓ มีนาคม ๒๕๒๓ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรี
๒๓ เมษายน ๒๕๒๓ ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ ๖๖/๒๓ เรื่องนโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ อันนำไปสู่การยุติสงครามกลางเมืองลงอย่างเด็ดขาด
๑ พฤษภาคม ๒๕๒๖ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง หลังจากได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๖
๕ สิงหาคม ๒๕๒๙ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า ฯ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
หลังจากได้ประกาศยุบสภา เมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๒๙
๒๓ สิงหาคม ๒๕๓๑ มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ฯ ให้เป็น องคมนตรี และได้ทรงพระ- กรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานเครื่องอิสริยาภรณ์อัน เป็นโบราณมงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ ซึ่งถือว่าเป็น เครื่องอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดสำหรับสามัญชน ให้แก่ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๓๑ ได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ประกาศยกย่องพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็น รัฐบุรุษ
๑๗ พฤษภาคม ๒๕๓๕ ได้รับพระบรมราชานุญาตให้นำพลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรี จำลอง ศรีเมือง หัวหน้าพรรคพลังธรรมและผู้นำกลุ่มมวลชน ในการชุมนุมคัดค้านนายกรัฐมนตรีที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง เข้าเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว เพื่อเจรจาปรับความเข้าใจกัน และให้ยุติการก่อความวุ่นวายในประเทศ เหตุการณ์นี้ ประชาชนเรียกว่า “เหตุการณ์ณ์พฤษภาทมิฬ” เนื่องจากเป็นเหตุการณ์ที่ขัดแย้งระหว่าง ประชาชนในชาติอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการแก้ไขเหตุการณ์ที่ได้รับการยกย่องจาก ประชาชนเป็นอย่างมาก

พัฒนาโดย หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี พลเอกเปรม ติณสูลานนท์
ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
E-mail : wimon_maneechot@hotmail.com